การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และบีซีไอ จับมือร่วมกันเปิดตัวบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ผ่านบล็อกเชน (eLG on Blockchain) ช่วยลดเวลาดำเนินงานของ กฟภ. ลงได้ 3 เท่า และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ลูกค้าและคู่ค้า โดย กฟภ. เป็นรัฐวิสาหกิจรายแรกของไทยที่ใช้บริการ eLG on Blockchain และเป็นต้นแบบองค์กรภาครัฐที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีนี้เพื่อมุ่งสู่การเป็น Digital Utility ซึ่งบีซีไอคาดว่าภายในสิ้นปี 2563 จะมีหน่วยงานที่ใช้บริการ eLG on Blockchain 58 ราย
นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เปิดเผยว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมารองรับการให้บริการด้านพลังงานไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าและคู่ค้าเพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ความทันสมัย ตลอดจนความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรได้อีกด้วย โดยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ผ่านบล็อกเชนในครั้งนี้ กฟภ. ได้เริ่มเปิดใช้บริการครั้งแรกในเดือนมีนาคมด้านการค้ำประกันการใช้ไฟฟ้า และถัดมาด้านการค้ำประกันงานจัดซื้อจัดจ้างในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นรัฐวิสาหกิจรายแรกของไทย และเป็นตัวแทนของหน่วยงานภาครัฐที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาบริการ eLG on Blockchain ซึ่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนภาครวมเศรษฐกิจของประเทศ
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโนบายระบบการชาระเงินและเทคโนโลยี ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือของภาคธนาคาร เพื่อสนับสนุนการทำงานของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดย “โครงการหนังสือค้าประกันอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Letter of Guarantee ” เป็น use case แรก ซึ่งถือเป็นระบบงานแรกที่นำบล็อกเชนมาใช้กับการจัดการหนังสือค้าประกัน โดยมีผู้เข้าร่วมใช้งานระบบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์เข้าร่วมให้บริการแล้ว 17 ราย ผู้รับผลประโยชน์ที่เป็นกลุ่มบริษัทชั้นนำของประเทศและบริษัทในเครือกว่า 50 บริษัท และสำหรับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะเป็นรัฐวิสาหกิจรายแรกของประเทศไทยที่ผู้รับผลประโยชน์เป็นภาครัฐ นอกจากนี้จะยังมีผู้รับผลประโยชน์ที่เป็นภาครัฐเข้าร่วมเพิ่มขึ้นในปลายปีนี้ และขณะนี้โครงการนี้อยู่ระหว่างการทดสอบนวัตกรรมใน Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีการติดตามผลการทดสอบและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง
ธนาคารแห่งประเทศไทย มีนโยบายที่ส่งเสริมให้ภาคการเงินมีการพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบเปิด และการกำหนดมาตรฐานที่สำคัญร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใช้งานแต่ละรายสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดร่วมกัน ก่อให้เกิดการแบ่งปันแนวคิดและองค์ความรู้ ส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกัน รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน มีนวัตกรรมรองรับรูปแบบบริการที่หลากหลาย ก่อให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลได้อย่างกว้างขวาง มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย
นายศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บีซีไอเป็นผู้ให้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ผ่านบล็อกเชนแก่ กฟภ. รัฐวิสาหกิจรายแรกที่สามารถเชื่อมต่อบริการ eLG on Blockchain ได้ซึ่งช่วยให้ กฟภ. ลดเวลาการดำเนินงานได้กว่า 3 เท่า ลดต้นทุนองค์กรในส่วนของการจัดการเอกสารและจำนวนพนักงานที่ต้องจัดการงานด้านนี้เพื่อไปเพิ่มคุณค่างานด้านอื่น เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้าและคู่ค้า ตลอดจนเพิ่มความถูกต้องแม่นยำที่ลดความเสี่ยงจากความผิดพลาดหรือการปลอมแปลงเอกสาร ปัจจุบันบีซีไอมีผู้ใช้บริการทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 48 ราย และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 58 รายภายในสิ้นปี 2563 นี้
หนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ผ่านบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยให้องค์กรมีการจัดการที่ดี และจะช่วยผลักดันให้ กฟภ.ก้าวสู่การเป็นองค์กร Digital Utility ได้ในอนาคต โดยปัจจุบันทั้ง กฟภ. และบีซีไอยังมีแผนความร่วมมือการพัฒนาเพื่อเชื่อมต่อเทคโนโลยีบล็อกเชนกับงานหนังสือค้ำประกันให้กับหน่วยงานอื่นของ กฟภ. ด้วย เช่น PEA Fiber ทั้งนี้ บีซีไอวางเป้าหมายขยายการให้บริการไปยังหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพิ่มเป็น 200 รายภายในปี 2564
โดยเป้าหมายของ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ตั้งเป้าเพิ่มการใช้งานหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ผ่านบล็อกเชนเป็น 50% ของหนังสือค้ำประกันทั้งประเทศ ภายใน 3 ปี จากมูลค่าหนังสือค้ำประกันผ่านระบบสถาบันการเงินไทยทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 1.35 ล้านล้านบาท จำนวนมากกว่า 500,000 ฉบับต่อปี
นายสิริวัฒน์ เกียรติเจริญสิน ผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า ด้วยบริการ หนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบบล็อกเชน (Letter of Guarantee on Blockchain) นี้จะช่วยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคลดต้นทุนในการจัดการเอกสารและการดูแลข้อมูล ตลอดจนลดขั้นตอนในการทำงาน ภายใต้ความปลอดภัยระดับโลก โดยเป็นการรับรองหนังสือค้ำประกัน ผ่านเทคโนโลยีคลาวด์ ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ อาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งช่วยให้การใช้งานคล่องตัว ปลอดภัย เชื่อถือได้ ป้องกันการปลอมแปลงหนังสือค้ำประกัน รองรับการทำธุรกรรม และสามารถตรวจสอบสถานะได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการ สามารถตรวจสอบเอกสารได้อย่างรวดเร็วผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 100%
นอกจากความสำเร็จของโครงการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบบล็อกเชน ทางบริษัทกำลังศึกษาการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปต่อยอดไปยัง use case อื่น เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมอื่นนอกจากภาคการเงินอีกด้วย เช่น ที่ได้ดำเนินการเปิดโครงการไปล่าสุดในวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา คือ โครงการหนังสือรับรองทางการเงิน (Bank Confirmation on Blockchain) ที่เป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยมีผู้ร่วมงานประกอบไปด้วย สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชี และสถาบันทางการเงิน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาและลดเวลาในการดำเนินการ เนื่องจากปัจจุบันพบว่ายังมีอุปสรรคในขั้นตอนการขอหนังสือรับรองทางการเงินที่ค่อนข้างใช้ระยะเวลาค่อนข้างมาก มีความหลากหลายของเอกสาร และข้อมูลไม่ครบถ้วนต้องดำเนินการขอใหม่และใช้ระยะเวลาเพิ่มเติมในการตรวจสอบบัญชี
นอกเหนือจาก นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโนบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยี ธนาคารแห่งประเทศไทย นายศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด นายสิริวัฒน์ เกียรติเจริญสิน ผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเปิดงานแล้ว ยังได้รับเกียรติจากรองผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้บริหารจากธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทหารไทยร่วมแสดงความยินดีในงานด้วย
Comments